Saturday, November 14, 2009

คาถา 2

ผู้เขียนจะนำข้อมูลเรื่องการคัดสายพันธุ์แพะเนื้ออย่างถูกต้องตามหลักของสมาคมแพะเนื้อในสหรัฐอเมริกามานำเสนอ เผื่อท่านผู้เลี้ยงแพะจะนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการคัดสรรพัฒนาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อปรับปรุงฝูงแพะของท่าน เพราะการคัดพันธุ์ ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมากต่ออาชีพการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด แพะเนื้อก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผู้เลี้ยงต่างมุ่งหวังว่าผลผลิตของตนจะเป็นที่ต้องการของตลาด และคุ้มค่ากับการลงทุน การถ่ายทอดลักษณะเด่นทางเศรษฐกิจของแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เช่น มีอัตราแลกเนื้อสูง สมบรูณ์พันธุ์เร็ว น้ำหนักแรกเกิดดี น้ำหนักเมื่อหย่านมดี ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น การจัดการไม่ยุ่งยาก น่าเป็นความใฝ่ฝันของท่านผู้เลี้ยงทุกท่าน และวิธีเดียวที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ การคัดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์

โดยส่วนตัวผู้เขียนเองมีความคิดเห็นว่า การลงทุนเลี้ยงแพะเนื้อเชิงธุรกิจ โดยไม่มีการวางแผนการผสมพันธุ์ที่ดี และไม่มีจุดประสงค์ในการผสมพันธุ์แพะนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของท่านเอง แถมยังเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะผลผลิตที่ได้จะไม่ตรงกับเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ การวางแผนการผสมพันธุ์อย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อท่านผู้เลี้ยงได้ตั้งจุดประสงค์ในการผสมพันธุ์เพื่อต้องการลดลักษณะด้อย หรือเพิ่มลักษณะเด่นในแพะฝูงของท่าน การวางแผนการผสมพันธุ์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้เลี้ยงได้แพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีตามความตั้งใจ ซึ่งอาจมีผู้เลี้ยงบางรายหมดความอดทนก่อนหน้าจะถึงจุดหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังอยากจะให้กำลังใจท่านให้เดินหน้าต่อไป เพราะหลังจากท่านประสบความสำเร็จในการคัดพัฒนาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ผลที่ตามมาคือ ท่านสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง และเพิ่มรายได้ให้กับตัวท่านเองในที่สุด

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีนั้นมีราคาสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใดก็ตาม แม้แต่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลินก็ไม่ต่างกัน เพราะในวงการเลี้ยงสัตว์ สัตว์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 เกรดเสมอ คือ เกรดไว้ทำพันธุ์ และเกรดธรรมดา ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่งเผื่อจะเป็นกำลังใจให้ท่านนักพัฒนาพันธุ์แพะในบ้านเรามีกำลังสู้กันต่อไป พ่อพันธุ์แพะตัวหนึ่งที่ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นแพะที่มีชื่อเสียงมาก ถูกขายไปในราคา 1..5 ล้านบาท เป็นแพะโบเออร์พันธุ์แท้และเป็นพ่อพันธุ์ระดับ เอ็มโนเบล (Ennobled) หรือระดับแกรนด์แชมป์ ปัจจุบันลูก หลาน เหลน ที่มีลักษณะดีของแพะตัวนี้ยังคงมีราคาเป็นหลักแสน ถึงหลักล้านเช่นกัน ในขณะที่แพะโบเออร์พันธุ์แท้ธรรมดาๆ ที่ขายกันอยู่ทั่วไป มีราคาประมาณแค่หลายพันบาท ซึ่งในโลกความเป็นจริง ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับสัตว์ทุกชนิด เหตุผลง่ายๆก็คือ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ดีสามารถถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมที่ดีไปสู่ลูก หลาน เหลน ต่อไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด หากมีความเข้าใจในเรื่องหลักการผสมพันธุ์ จนนำไปสู่การวางแผนการผสมพันธุ์ที่ดีและรอบคอบ เมื่อระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเท่ากัน แต่แพะตัวหนึ่งขายได้ราคาสูงกว่าอีกตัวหนึ่ง ย่อมชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จในการเลี้ยงแพะนั้นอยู่กับฝ่ายใด (ผู้เขียนยกตัวอย่างพ่อพันธุ์แพะในสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถึง 1.5 ล้านบาท ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้พ่อพันธุ์แพะในบ้านเราระดับประกวดกันในประเทศมีราคาสูงเท่ากับแพะในสหรัฐนะครับ)

เมื่อการผสมพันธุ์เพื่อการคัดพันธุ์เป็นหัวใจของการเลี้ยงสัตว์ ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาถึงหลักการผสมพันธุ์สัตว์ รวมถึงแพะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีดังนี้

1. การผสมแบบเลือดชิด หรืออินบรีดดิ้ง (Inbreeding) การทำอินบรีดดิ้งเป็นโปรแกรมการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์แท้ และจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อใช้โปรแกรมการผสมนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การนำพ่อผสมกับลูก หรือ นำแม่ผสมกับลูกกันเองหลายรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่ลักษณะดีจะเข้มข้น ลักษณะด้อยหรือข้อบกพร่องต่างๆที่แฝงอยู่ก็จะเข้มข้นตามด้วยเช่นกัน แต่การทำอินบรีดดิ้งก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งนักผสมพันธุ์สัตว์ก็จำเป็นต้องนำวิธีนี้มาใช้ในการเพิ่มจำนวนสัตว์พันธุ์แท้ให้มากขึ้น ซึ่งความจริงแล้ว นักผสมพันธุ์สัตว์ที่ดีต่างก็ทราบถึงผลเสียของการทำอินบรีดดิ้งเป็นระยะเวลานานเป็นอย่างดี แต่วิธีนี้เป็นวิธีเดียวในการแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสัตว์พันธุ์แท้ที่มีน้อยเกินไปได้

2. การผสมแบบไลน์บรีดดิ้ง (Linebreeding) การผสมพันธุ์ด้วยโปรแกรมนี้ ผู้เขียนมักนำมาใช้กับการผสมพันธุ์สัตว์ทุกชนิดที่ผู้เขียนเลี้ยง และเป็นวิธีที่นักผสมพันธุ์สัตว์ทั่วโลกให้การยอมรับว่าได้ผลดีที่สุดในการรักษาความเข้มข้นของสายเลือดที่มีลักษณะดีที่ต้องการไว้ได้ การผสมพันธุ์สัตว์ด้วยวิธีนี้จึงไม่นิยมนำสายเลือดอื่นเข้ามาผสม ดังนั้นหากผู้เลี้ยงมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีอยู่ในฟาร์มของตนอยู่แล้ว ผู้เลี้ยงควรศึกษาโปรแกรมการผสมพันธุ์ด้วยวิธีนี้ให้ลึกซึ้ง เพราะการวางแผนการผสมด้วยวิธีนี้จะสามารถรักษาสายเลือดที่มีไว้ได้ตลอดไป

3. การผสมแบบข้ามสายเลือด หรือ ครอสบรีดดิ้ง (Crossbreeding) เป็นการนำสายเลือดต่างสายมาผสมกันด้วยมีความคิดและความตั้งใจจะให้สายเลือดใหม่นั้นมาพัฒนาสายเลือดเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น การนำสายเลือดที่มีความเด่นในเรื่อง โตเร็ว ให้เนื้อดี มาผสมกับสายเลือดเดิมที่มี เพื่อให้ลักษณะโตเร็ว เนื้อดีถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน แต่หากท่านผู้เลี้ยงยังคงนำสายเลือดใหม่ๆเข้ามาผสมต่อไปอีก ผลก็คือ ท่านจะได้แพะสายเลือดใหม่ที่มีการถ่ายทอดลักษณะเด่นที่ต้องการเก็บรักษาไว้แตกต่างออกไป สรุปง่ายๆคือ การผสมพันธุ์ด้วยโปรแกรมนี้อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผลผลิตไม่คงที่

หลักการในการผสมพันธุ์สัตว์ทั้ง 3 วิธีนี้ ผู้เขียนขอนำมาอธิบายแบบคร่าวๆ เพียงเท่านี้ แต่อยากให้ท่านผู้เลี้ยงได้ไปศึกษาต่ออย่างละเอียด จากนั้นท่านผู้เลี้ยงต้องวิเคราะห์ถึงปัญหา ข้อดี ข้อด้อย ของฝูงแพะของท่านก่อนว่าต้องการจะพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขในจุดใด แล้วจึงวางแผนการผสมพันธุ์ตามสถานการณ์ และตามเวลาให้เหมาะสม เพราะไม่มีวิธีหนึ่งวิธีใดเป็นวิธีที่ถูกต้องตลอดไป

เมื่อเราได้รู้จักหลักการผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาพันธุ์แล้ว การจะได้มาซึ่งสายเลือดที่ดีอย่างที่ต้องการเพื่อพัฒนาพันธุ์ในฟาร์มของเรานั้นอาจทำได้ลำบาก ทั้งราคาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่สูง ยิ่งเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีชื่อในต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องคิดหนัก ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผสมเทียม และการฝากย้ายตัวอ่อนได้ก้าวหน้าไปไกลมาก เป็นเรื่องที่ผู้เพาะเลี้ยงแพะในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ประเทศในแอฟริกาใต้ ทำกันมานานแล้ว ผู้เขียนจึงอยากฝากเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ โปรดเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ด้วย เพราะน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาสายพันธุ์แพะในบ้านเราให้ก้าวหน้าขึ้นได้ การส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรเริ่มรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดความรู้ไปอย่างไม่หยุดยั้ง

คาถา 1




มนุษย์เรารู้จักการเลี้ยงแพะมานานนับเป็นพันๆปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ประชากรยังไม่ล้นโลกเท่าทุกวันนี้ มนุษย์ในยุคก่อนเลี้ยงแพะเพื่อเอานม และเนื้อมาเป็นอาหาร เอาขนมันมาทำเสื้อผ้า เอาเขาและกระดูกมาทำของใช้

ต่างๆ ผู้เขียนเองก็เคยสงสัยและมีคำถามว่า แล้วเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่การเลี้ยงแพะมีมานานแล้ว แต่แพะกลับเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้ความสนใจในการเลี้ยง การพัฒนาทางด้านสายพันธุ์น้อยมาก อาจเป็นเพราะ แพะเป็นสัตว์ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศเขตร้อนแห้ง อย่างเช่นประเทศในตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ความนิยมในการบริโภคเนื้อแพะจึงอยู่ในวงจำกัด แต่ในโลกปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกต้องพึ่งพาน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลาง การเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และจำนวนประชากรชาวมุสลิมที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่จำเพาะแต่ในตะวันออกกลาง แต่ทั่วโลก ทำให้ความต้องการในการบริโภคเนื้อและนมแพะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อัตราการเติบโตในการบริโภคเนื้อแพะก็สูงขึ้นจนเป็นที่น่าจับตามอง เพราะในช่วง 10 - 15 ปีที่ผ่านมา ผู้ตนต่างถิ่นจากประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง คนยิว และผู้คนในแถบแคริเบียน ซึ่งมีวัฒนธรรมนิยมชมชอบการบริโภคเนื้อแพะ ได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา และนำเอาความนิยมในการบริโภคเนื้อแพะไปสู่ประเทศนี้ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนบนโลกตื่นตัวและหันมาสนใจในเรื่องการกินอาหารเพื่อสุขภาพ การค้นหาแหล่งโปรตีนที่เป็นธรรมชาติ ปลอดสารพิษ มีไขมันสะสมน้อย ซึ่งเนื้อ และนมแพะก็เป็นคำตอบหนึ่งของทางเลือกใหม่ในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพของคนในยุคนี้ ดูได้จากตัวเลขการนำเข้าเนื้อแพะ จากข้อมูลขององค์การอาหารและยา (อย) ของสหรัฐอเมริกา ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบคัวเลขดูนะครับว่า ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นในระยะเวลา 30 ปีนั้นน่าตื่นเต้นเพียงใด ในปี 1970 สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าเนื้อแพะจำนวน 1.29 ตัน (1,290 ก.ก) แต่ตัวเลขนำเข้าในปี 2004 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 9,500 ตัน (9,500,000 ก.ก) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพะที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย โดยจำนวนประมาณอยู่ที่ 700,000 ตัว

องค์กรและหน่วยงานต่างๆในสหรัฐอเมริกา ทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงหันมาตื่นตัวและผลักดันให้มีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อกันอย่างจริงจัง ด้วยมองเห็นถึงข้อดีซึ่งสามารถสรุปได้เป็นข้อๆได้ดังนี้

1. แพะเป็นสัตว์ที่ตลาดผู้บริโภคมีความต้องการสูง ราคาดี

2. ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ

3. เป็นสัตว์ที่ขยายพันธุ์เร็ว

4. ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น คืนทุนเร็ว

5. สามารถเลี้ยงควบคู่ไปกับวัวได้

เมื่อหน่วยงานต่างๆของสหรัฐอเมริกามองเห็นอนาคตของสัตว์เศรษฐกิจตัวนี้ จึงเริ่มมีการจัดการอบรม เผยแพร่ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งองค์กรต่างๆแม้แต่มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านการเกษตรกรรม และกสิกรรม ก็ออกมาให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจอย่างต่อเนื่อง อินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกแหล่งข้อมูลความรู้หนึ่งที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาได้ เราเองก็สามารถนำข้อมูลและความรู้ต่างๆมาศึกษาและพัฒนาวิธีการเลี้ยงแพะในบ้านเราได้เช่นกัน แม้ว่าความต้องการบริโภคเนื้อแพะในประเทศไทยอาจไม่มากมายเท่ากับในสหรัฐอเมริกา แต่หากเราจะมองถึงศักยภาพของเกษตรกร และภูมิประเทศของไทย แพะก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกตัวที่ต้องจับตามอง ทั้งตลาดใน และต่างประเทศ ผู้เขียนไม่อยากเห็นอาชีพการเลี้ยงแพะถูกปลุกให้เป็นกระแสนิยม ฮือฮาเพียงชั่วข้ามปี แล้วก็ต้องเลิกล้มความตั้งใจในการเลี้ยง เพราะประสบกับปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านการตลาด หรือโรคภัยไข้เจ็บของแพะ แต่น่าจะเป็นอาชีพที่ก้าวหน้าและมั่นคง หากเกษตรกรผู้เลี้ยงมีความรู้ ความเข้าใจ และมีวิธีการจัดการอย่างถูกต้อง ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงแพะเนื้อเพื่อการค้าให้ประสบความสำเร็จจึงต้องเริ่มจากความพร้อมของผู้เลี้ยง เช่น ความอยากเลี้ยงสัตว์ชนิดนี้ สถานที่เลี้ยง เงินทุน สายพันธุ์ และความรู้ในด้านการจัดการเลี้ยง อาหาร และการป้องกันโรคต่างๆ ของแพะ และสุดท้ายยังต้องเข้าใจในเรื่องการตลาดอีกด้วย ฟังดูแล้ว คงคิดว่า ทำได้ยาก แต่ผู้เขียนกลับมองว่า หากผู้เลี้ยงสนใจ ศึกษาและพัฒนาอย่างจริงจัง การเลี้ยงแพะเนื้อเพื่อการค้าให้ประสบความสำเร็จนั้นมีความเป็นไปได้ และจากการที่ผู้เขียนได้เคยพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในบ้านเรา เกษตรกรยังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์แพะเนื้อ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการคัดเลือก พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อย่างถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปพัฒนาฝูงแพะของตน ผู้เขียนจึงจะเริ่มจากการนำเสนอข้อมูลการคัดเลือกพันธุ์แพะเนื้อ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาแพะเนื้อในบ้านเรา ก่อนเป็นเรื่องแรก

อย่างที่ทราบกันแล้วว่า สายพันธุ์แพะเนื้อที่ผู้เลี้ยงแพะทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นพันธุ์ที่มีอัตราแลกเนื้อและเปอร์เซ็นต์ซากดีที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งแพะเนื้อคือ แพะพันธุ์โบเออร์ (Boer) (คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งสงสัยนะครับว่าทำไมผู้เขียนจึงเรียกแพะพันธุ์นี้ว่า โบเออร์ ผู้เขียนต้องสะกดอย่างนี้เพื่อให้อ่านออกเสียงตามคนอเมริกันว่า โบเออร์ หากผู้เขียนพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องแพะชาวอเมริกันว่าแพะพันธุ์บัวร์ หรือ บอร์ พวกเขาจะอึ้งกันหมด และเกิดความสงสัยว่าผู้เขียนกำลังสนทนาถึงแพะสายพันธุ์ใหม่หรืออย่างไร ) ผู้เขียนได้เกริ่นมาแล้วข้างต้นว่า ในประเทศแอฟริกาใต้มีการพัฒนาสายพันธุ์แพะพันธุ์เนื้อมานานแล้ว จนในปีค.ศ 1959 ประเทศแอฟริกาใต้ได้ก่อตั้งสมาคมผู้เพาะพันธุ์แพะโบเออร์ขึ้น และนับแต่นั้นมาแพะพันธุ์โบเออร์ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับของผู้เลี้ยงแพะเนื้อในประเทศต่างๆ ทั้งประเทศเยอรมัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาสายพันธุ์จนในที่สุด แพะพันธุ์โบเออร์ก็ถูกพัฒนาจนเป็นแพะเนื้อสายพันธุ์แท้ที่ให้เนื้อดีที่สุดในโลก โดยที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงแพะพันธุ์โบเออร์ในประเทศต่างๆได้นำหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลักษณะแพะพันธุ์โบเออร์เพื่อใช้ในการคัดเลือกสายพันธุ์ รวมไปถึงการให้คะแนนในเวทีประกวดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จากสมาคมผู้เพาะพันธุ์แพะโบเออร์จากประเทศแอฟริกาใต้มาเป็นต้นแบบ

ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เริ่มนำเข้าแพะพันธุ์โบเออร์จากประเทศแอฟริกาใต้เพื่อทำการพัฒนาสายพันธุ์ครั้งแรกในปีค.ศ 1987 และเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ได้นำหลักการของสมาคมในประเทศแอฟริกาใต้มาใช้ ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่ทางสมาคมแพะเนื้อของประเทศอเมริกาใช้ในปัจจุบัน

1. ลักษณะทั่วไป

แพะพันธุ์โบเออร์ต้องมีมัดกล้ามเนื้อที่เด่นชัด และให้ความรู้สึกของความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อตามสัดส่วนโครงสร้าง แพะเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าแพะเพศเมีย แพะเพศผู้จะมีหน้าอกกว้างลึก แผ่นหลังกว้างและแข็งแกร่ง มีมัดกล้ามเนื้อสะโพกใหญ่แน่น ส่วนหัวต้องมีขนาดกว้างรับกับส่วนโค้งเรียบของหน้าผากจนถึงจมูก เขาจะต้องกลมโค้งไปทางด้านหลัง ส่วนแพะเพศเมียจะต้องมีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีเนื้อหน้าอกเด่นชัด กล้ามเนื้อน่องและสะโพกแข็งแรงสมส่วน แต่ยังคงดูมีลักษณะความเป็นเพศเมียที่สมบรูณ์อยู่

2. โครงสร้างของหัวและสี

แพะทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องมีหัวที่ใหญ่ แข็งแรง นัยน์ตาสีน้ำตาลอ่อน ลักษณะหัวต้องเรียบโค้งรับกับใบหน้าตั้งแต่โคนเขาจนถึงจมูก เขาทั้งสองข้างต้องกลมสีเข้มและอยู่ห่างกันพอดี แพะที่ถูกสูญเขาสามารถเข้าประกวดได้โดยไม่ผิดกติกา ใบหูจะต้องเรียบและอยู่ด้านข้างของใบหน้า โดยไม่บังตาแพะ ปากบน-ล่างต้องขบเสมอกัน โดยไม่มีส่วนใดยื่นออกมา ขนส่วนหัวต้องมีสีแดง อาจเป็นแดงอ่อน แดงเข้ม แดงอมส้ม หรือแดงอมน้ำตาลก็ได้ ส่วนหัวทั้งซีกซ้ายและขวาควรมีสัดส่วนขนสีแดง 40% เป็นอย่างต่ำ (ไม่รวมใบหู) ส่วนใบหูควรมีขนสีแดง 75% แต่ไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งโดยรวมแล้วส่วนหัวทั้งหมดควรต้องมีขนสีแดง 75% ส่วนที่เหลือต้องเป็นสีขาว

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.เขาแบน ตรง ไม่กลม โค้ง หรือเขาทั้งสองข้างอยู่ชิดกันเกินไป

2.ปากล่างแหลมเล็ก

3.หูสั้น

4.มีขนสีแดงโดยรวมไม่ถึง 75%

5.หูพับจนเห็นรูหู

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.ส่วนหน้าผากเว้าเข้า

2.หูพับจนเห็นรูหู ซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

3.ปากบน หรือล่างยื่นออก ขบไม่เสมอกัน

ลักษณะที่ต้องถูกคัดทิ้ง

1.ตาสีฟ้า

2.หัวไม่เรียบ ขรุขระไม่เป็นทรง

3.มีขนสีขาวทั้งหัว

3. ลำตัวส่วนหน้า

แพะเพศผู้จะต้องมีกล้ามเนื้อบริเวณคอเป็นมัดอย่างเห็นได้ชัด และต้องได้สัดส่วนกับลำตัว ส่วนแพะเพศเมียจะมีลำคอยาวเล็กน้อยและเนียนเรียบ ทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องมีหน้าอกกว้างและลึก หัวไหล่กว้างมีกล้ามเนื้อแน่นรับกับส่วนวิทเธอร์

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.หัวไหล่ขาหน้าโก่งขึ้น

2.อกแคบ

3.สันคอแคบ

4.สันคอคดแอ่น

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.หัวไหล่ขาหน้าโก่งมากเกินไป

2.กระดูกอกยื่นออกมามากเกินไป

4. แผ่นหลัง

แพะทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องมีแผ่นหลังที่กว้างและยาว รอยต่อระหว่างวิทเธอร์กับแผ่นหลังทำมุมเล็กน้อย สันหลังกว้างยาวประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อ ส่วนสะโพกยาวโค้งต่อจนถึงบั้นท้าย บั้นท้ายต้องกลมและมีกล้ามเนื้อใหญ่แน่นได้สัดส่วนต่อลงไปจนถึงขาหลัง กระดูกก้นกบต้องกว้าง ส่วนหางต้องตรงไม่คดเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.สันหลังไม่กว้าง แคบและสั้น ไม่มีกล้ามเนื้อ

2.แผ่นหลังสั้น ไม่มีกล้ามเนื้อ

3.หางคด

4.กระดูกก้นกบแคบ

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.หลังคดงอ

2.กระดูกสะโพกหักมุมไม่รับกับส่วนแผ่นหลัง

3.บั้นท้ายเรียบ ไม่มีกล้ามเนื้อ

4.รอยต่อระหว่างแผ่นหลังกับวิทเธอร์ทำมุมมากเกินไป

5. ส่วนขา ข้อเท้า และกีบ

ขาหน้าของแพะทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องตรง ยาวสมส่วนกับลำตัว โดยอยู่ในตำแหน่งแนวตรงกับวิทเธอร์ ส่วนข้อเท้าขาหน้าลงไปจนถึงกีบต้องสั้นและตรง ขาหลังต้องตรงสมส่วน เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นเป็นแนวตรงตั้งฉากกับพื้น เมื่อมองจากด้านข้าง ขาหลังต้องตรงตั้งฉากกับข้อเท้า ความยาวของขาช่วงข้อเท้าลงมาถึงกีบต้องไม่สั้นเกินไป กีบเท้าต้องชิดกัน เป็นสีเข้ม และชี้ไปด้านหน้า

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.เข่าชนกัน

2.ข้อหัวเข่าใหญ่

3.ขามีเนื้อมากเกินไป หรือน้อยเกินไป

4.ช่วงข้อเท้าลงมาถึงกีบเอียงลาด

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.ปลายเท้าสองข้างแบะออกหรือเอียงเข้าหากัน

2.ขาหลังแคบชิดกันเกินไป

3.ขาหลังตรงและตึงเกินไป

4.ขาโก่ง

5.ช่วงขาหน้ายาวเกินไป

6.ช่วงขาหลังไม่ตรงตั้งฉากกับพื้น

6. ผิวหนังและขน

ผิวหนังต้องมีความยืดหยุ่น นุ่มนวล แพะเพศผู้ต้องมีผิวหนังช่วงหน้าอกและคอย่นอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากแพะเพศเมียที่ไม่ย่น ใต้หาง ขอบตาและเปลือกตา ไม่มีขนและผิวหนังบริเวณนี้ต้องมีเม็ดสีเข้มเป็นสีน้ำตาล บริเวณผิวหนังใต้หางจะต้องมีสัดส่วนของผิวสีเข้มอย่างน้อย 75% ในการคัดพ่อพันธุ์ชั้นดี ผิวบริเวณใต้หางนี้จะต้องเป็นสีเข้มทั้งหมด 100%

ขนแพะทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องสั้นเป็นเงามัน ไม่หยาบ ตามลำตัวมีขนสีขาว และอาจมี 20% เป็นสีแดง การมีขนสีแดงทั้งตัวจะถูกจัดอยู่ในประเภทขนสีแดงล้วนในการแข่งขัน แต่หากมีขนสีขาวทั้งตัวต้องคัดทิ้ง

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น

2.ขนหยาบ

3.ขนยาวเกินไป

4.เพศเมียมีผิวใต้หางเป็นผิวสีเข้มน้อยกว่า 50%

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.เพศผู้มีผิวใต้หางเป็นผิวสีเข้มน้อยกว่า 50%

2.ขอบตา และเปลือกตาเป็นสีชมพูอ่อน

3.เพศเมียมีผิวขอบตา เปลือกตา และผิวใต้หางเป็นสีชมพูอ่อนทั้งหมด

4.ตามลำตัวเป็นผิวสีชมพูอ่อนทั้งตัว

ลักษณะที่ต้องถูกคัดทิ้ง

1.แพะเพศผู้ และเพศเมียที่มีขนสีขาวทั้งตัว

2.แพะเพศผู้ที่มีผิวใต้หางเป็นสีชมพูอ่อน 100%

7. อวัยวะสืบพันธุ์

ในแพะเพศเมียจะต้องมีเต้านมที่ได้รูปทรงที่ดีและอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เต้านมซีกซ้ายและขวาต้องมีหัวนมที่สมบรูณ์ (หมายถึงรูน้ำนมเปิดสามารถให้นมได้) ข้างละไม่เกิน 2 หัว แต่ลักษณะเต้านมที่ถูกต้องและดีที่สุดคือมีหัวนมเพียงซีกละ 1 หัวเท่านั้น ส่วนแพะเพศผู้ก็ต้องมีหัวนมได้รูปทรงไม่ผิดรูปร่างเต้านมซีกซ้ายและขวาจะต้องมีขนาดเท่าๆกัน มีระยะห่างของหัวนมเท่าๆกันทั้งสองข้าง และมีหัวนมได้ซีกละ 2 หัว แต่ลักษณะที่ถูกต้องและดีที่สุดคือมีหัวนมเพียงซีกละ 1 หัว แพะเพศผู้ต้องมีลูกอัณฑะข้างละ 1 ใบ และต้องมีขนาดเท่ากันทั้งสองข้าง ตรงกลางลูกอัณฑะมีรอยแยกได้ไม่เกิน 1 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางของลูกอัณฑะทั้งสองข้างในแพะเพศผู้อายุ 1 ปี ควรวัดได้ 10 นิ้ว และแพะอายุ 2 ปี ควรวัดได้ 12 นิ้ว

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่อง

1.ลูกอัณฑะแพะเพศผู้ห้อยย้อย ปัดไปมาเวลาเดิน

2.หัวนมแพะเพศเมียมีรูน้ำนม 2 รู ในหัวเดียว

ลักษณะที่จัดว่าเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง

1.แพะเพศเมียมีหัวนมมากกว่าซีกละ 2 หัว

2.แพะเพศผู้มีลูกอัณฑะรูปร่างผิดปกติ หรือมีขนาดเล็กเกินไป

3.รอยแยกของลูกอัณฑะมีความยาวเกิน 1 นิ้ว

4.แพะเพศผู้มีหัวนมมากกว่าข้างละ 2หัว

5.ทั้งเพศผู้และเพศเมียมีหัวนมหลายหัวรวมกันเป็นกระจุก

ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้น่าจะมีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย และสำหรับผู้เลี้ยงมือใหม่บางท่านที่อาจไม่เข้าใจมากนัก ผู้เขียนจะนำรูปภาพของลักษณะดี ลักษณะด้อยมาประกอบเปรียบเทียบให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น และจะนำข้อมูลเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแพะต่างแดนมา เล่าสู่กันฟังต่อไป สวัสดีครับ