Saturday, November 14, 2009

คาถา 2

ผู้เขียนจะนำข้อมูลเรื่องการคัดสายพันธุ์แพะเนื้ออย่างถูกต้องตามหลักของสมาคมแพะเนื้อในสหรัฐอเมริกามานำเสนอ เผื่อท่านผู้เลี้ยงแพะจะนำมาใช้เป็นตัวอย่างในการคัดสรรพัฒนาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อปรับปรุงฝูงแพะของท่าน เพราะการคัดพันธุ์ ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เป็นสิ่งสำคัญมากต่ออาชีพการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด แพะเนื้อก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผู้เลี้ยงต่างมุ่งหวังว่าผลผลิตของตนจะเป็นที่ต้องการของตลาด และคุ้มค่ากับการลงทุน การถ่ายทอดลักษณะเด่นทางเศรษฐกิจของแพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เช่น มีอัตราแลกเนื้อสูง สมบรูณ์พันธุ์เร็ว น้ำหนักแรกเกิดดี น้ำหนักเมื่อหย่านมดี ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น การจัดการไม่ยุ่งยาก น่าเป็นความใฝ่ฝันของท่านผู้เลี้ยงทุกท่าน และวิธีเดียวที่จะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ การคัดพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์

โดยส่วนตัวผู้เขียนเองมีความคิดเห็นว่า การลงทุนเลี้ยงแพะเนื้อเชิงธุรกิจ โดยไม่มีการวางแผนการผสมพันธุ์ที่ดี และไม่มีจุดประสงค์ในการผสมพันธุ์แพะนั้น ไม่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของท่านเอง แถมยังเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะผลผลิตที่ได้จะไม่ตรงกับเป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ การวางแผนการผสมพันธุ์อย่างจริงจังเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงต้องศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อท่านผู้เลี้ยงได้ตั้งจุดประสงค์ในการผสมพันธุ์เพื่อต้องการลดลักษณะด้อย หรือเพิ่มลักษณะเด่นในแพะฝูงของท่าน การวางแผนการผสมพันธุ์อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผู้เลี้ยงได้แพะพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีตามความตั้งใจ ซึ่งอาจมีผู้เลี้ยงบางรายหมดความอดทนก่อนหน้าจะถึงจุดหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังอยากจะให้กำลังใจท่านให้เดินหน้าต่อไป เพราะหลังจากท่านประสบความสำเร็จในการคัดพัฒนาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ผลที่ตามมาคือ ท่านสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง และเพิ่มรายได้ให้กับตัวท่านเองในที่สุด

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีนั้นมีราคาสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใดก็ตาม แม้แต่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลินก็ไม่ต่างกัน เพราะในวงการเลี้ยงสัตว์ สัตว์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 เกรดเสมอ คือ เกรดไว้ทำพันธุ์ และเกรดธรรมดา ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหนึ่งเผื่อจะเป็นกำลังใจให้ท่านนักพัฒนาพันธุ์แพะในบ้านเรามีกำลังสู้กันต่อไป พ่อพันธุ์แพะตัวหนึ่งที่ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นแพะที่มีชื่อเสียงมาก ถูกขายไปในราคา 1..5 ล้านบาท เป็นแพะโบเออร์พันธุ์แท้และเป็นพ่อพันธุ์ระดับ เอ็มโนเบล (Ennobled) หรือระดับแกรนด์แชมป์ ปัจจุบันลูก หลาน เหลน ที่มีลักษณะดีของแพะตัวนี้ยังคงมีราคาเป็นหลักแสน ถึงหลักล้านเช่นกัน ในขณะที่แพะโบเออร์พันธุ์แท้ธรรมดาๆ ที่ขายกันอยู่ทั่วไป มีราคาประมาณแค่หลายพันบาท ซึ่งในโลกความเป็นจริง ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับสัตว์ทุกชนิด เหตุผลง่ายๆก็คือ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่ดีสามารถถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรมที่ดีไปสู่ลูก หลาน เหลน ต่อไปได้ไม่มีวันสิ้นสุด หากมีความเข้าใจในเรื่องหลักการผสมพันธุ์ จนนำไปสู่การวางแผนการผสมพันธุ์ที่ดีและรอบคอบ เมื่อระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเท่ากัน แต่แพะตัวหนึ่งขายได้ราคาสูงกว่าอีกตัวหนึ่ง ย่อมชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จในการเลี้ยงแพะนั้นอยู่กับฝ่ายใด (ผู้เขียนยกตัวอย่างพ่อพันธุ์แพะในสหรัฐอเมริกาที่มีราคาถึง 1.5 ล้านบาท ไม่ได้มีจุดประสงค์ให้พ่อพันธุ์แพะในบ้านเราระดับประกวดกันในประเทศมีราคาสูงเท่ากับแพะในสหรัฐนะครับ)

เมื่อการผสมพันธุ์เพื่อการคัดพันธุ์เป็นหัวใจของการเลี้ยงสัตว์ ผู้เลี้ยงจึงควรศึกษาถึงหลักการผสมพันธุ์สัตว์ รวมถึงแพะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธีดังนี้

1. การผสมแบบเลือดชิด หรืออินบรีดดิ้ง (Inbreeding) การทำอินบรีดดิ้งเป็นโปรแกรมการผสมพันธุ์เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์แท้ และจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อใช้โปรแกรมการผสมนี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ เช่น การนำพ่อผสมกับลูก หรือ นำแม่ผสมกับลูกกันเองหลายรุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่ลักษณะดีจะเข้มข้น ลักษณะด้อยหรือข้อบกพร่องต่างๆที่แฝงอยู่ก็จะเข้มข้นตามด้วยเช่นกัน แต่การทำอินบรีดดิ้งก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งนักผสมพันธุ์สัตว์ก็จำเป็นต้องนำวิธีนี้มาใช้ในการเพิ่มจำนวนสัตว์พันธุ์แท้ให้มากขึ้น ซึ่งความจริงแล้ว นักผสมพันธุ์สัตว์ที่ดีต่างก็ทราบถึงผลเสียของการทำอินบรีดดิ้งเป็นระยะเวลานานเป็นอย่างดี แต่วิธีนี้เป็นวิธีเดียวในการแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสัตว์พันธุ์แท้ที่มีน้อยเกินไปได้

2. การผสมแบบไลน์บรีดดิ้ง (Linebreeding) การผสมพันธุ์ด้วยโปรแกรมนี้ ผู้เขียนมักนำมาใช้กับการผสมพันธุ์สัตว์ทุกชนิดที่ผู้เขียนเลี้ยง และเป็นวิธีที่นักผสมพันธุ์สัตว์ทั่วโลกให้การยอมรับว่าได้ผลดีที่สุดในการรักษาความเข้มข้นของสายเลือดที่มีลักษณะดีที่ต้องการไว้ได้ การผสมพันธุ์สัตว์ด้วยวิธีนี้จึงไม่นิยมนำสายเลือดอื่นเข้ามาผสม ดังนั้นหากผู้เลี้ยงมีพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่ดีอยู่ในฟาร์มของตนอยู่แล้ว ผู้เลี้ยงควรศึกษาโปรแกรมการผสมพันธุ์ด้วยวิธีนี้ให้ลึกซึ้ง เพราะการวางแผนการผสมด้วยวิธีนี้จะสามารถรักษาสายเลือดที่มีไว้ได้ตลอดไป

3. การผสมแบบข้ามสายเลือด หรือ ครอสบรีดดิ้ง (Crossbreeding) เป็นการนำสายเลือดต่างสายมาผสมกันด้วยมีความคิดและความตั้งใจจะให้สายเลือดใหม่นั้นมาพัฒนาสายเลือดเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เช่น การนำสายเลือดที่มีความเด่นในเรื่อง โตเร็ว ให้เนื้อดี มาผสมกับสายเลือดเดิมที่มี เพื่อให้ลักษณะโตเร็ว เนื้อดีถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน แต่หากท่านผู้เลี้ยงยังคงนำสายเลือดใหม่ๆเข้ามาผสมต่อไปอีก ผลก็คือ ท่านจะได้แพะสายเลือดใหม่ที่มีการถ่ายทอดลักษณะเด่นที่ต้องการเก็บรักษาไว้แตกต่างออกไป สรุปง่ายๆคือ การผสมพันธุ์ด้วยโปรแกรมนี้อย่างต่อเนื่องจะทำให้ผลผลิตไม่คงที่

หลักการในการผสมพันธุ์สัตว์ทั้ง 3 วิธีนี้ ผู้เขียนขอนำมาอธิบายแบบคร่าวๆ เพียงเท่านี้ แต่อยากให้ท่านผู้เลี้ยงได้ไปศึกษาต่ออย่างละเอียด จากนั้นท่านผู้เลี้ยงต้องวิเคราะห์ถึงปัญหา ข้อดี ข้อด้อย ของฝูงแพะของท่านก่อนว่าต้องการจะพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขในจุดใด แล้วจึงวางแผนการผสมพันธุ์ตามสถานการณ์ และตามเวลาให้เหมาะสม เพราะไม่มีวิธีหนึ่งวิธีใดเป็นวิธีที่ถูกต้องตลอดไป

เมื่อเราได้รู้จักหลักการผสมพันธุ์เพื่อพัฒนาพันธุ์แล้ว การจะได้มาซึ่งสายเลือดที่ดีอย่างที่ต้องการเพื่อพัฒนาพันธุ์ในฟาร์มของเรานั้นอาจทำได้ลำบาก ทั้งราคาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่สูง ยิ่งเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่มีชื่อในต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องคิดหนัก ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผสมเทียม และการฝากย้ายตัวอ่อนได้ก้าวหน้าไปไกลมาก เป็นเรื่องที่ผู้เพาะเลี้ยงแพะในประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ประเทศในแอฟริกาใต้ ทำกันมานานแล้ว ผู้เขียนจึงอยากฝากเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ โปรดเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ด้วย เพราะน่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาสายพันธุ์แพะในบ้านเราให้ก้าวหน้าขึ้นได้ การส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรเริ่มรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดความรู้ไปอย่างไม่หยุดยั้ง

No comments:

Post a Comment